บริษัท พาโตเคมีอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน)

การกำกับดูแลกิจการ

(Corporate governance)

นโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ

               บริษัท พาโตเคมีอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินกิจการและเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับ ผู้ถือหุ้น บริหารงานด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้าง ความพึงพอใจต่อผู้ถือหุ้น ด้วยการสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ตรวจสอบได้ และเป็นที่น่าเชื่อถือ แก่บุคคลทั่วไป โดยเคารพสิทธิและปฏิบัติต่อส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียม

คณะกรรมการจึงได้กำหนดนโยบายการกำกับกิจการที่ดีดังนี้

  1.  รับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำ
  2. มีสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบ
  3. มีความโปร่งใสตรวจสอบได้
  4. ปฎิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  5. มีวิสัยทัศน์เพื่อความยั่งยืน
  6. มีคุณธรรมและจริยธรรม
  7. ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

               บริษัท จัดให้มีประชุมสามัญผู้ถือหุ้น โดยให้ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมพิจารณาวาระต่างๆ และรับทราบผลการดำเนินงาน โดยคำนึงว่าผู้เข้าร่วมประชุมควรจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา และเท่าเทียมกัน บริษัทจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นโดยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุนสถาบันเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น ในสถานที่ซึ่งทุกท่านสามารถเดินทางมาร่วมประชุมด้วยความสะดวก ในปี 2567 บริษัทจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีในวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 และได้จัดเตรียมเอกสาร รายละเอียดซึ่งผู้ถือหุ้น พึงทราบส่งให้ผู้ถือหุ้นได้พิจารณาก่อนเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน นำหนังสือเชิญประชุมขึ้น Website ของบริษัท ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 หากผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ บริษัทได้แนบหนังสือมอบฉันทะพร้อมหนังสือเชิญประชุม เพื่อผู้ถือหุ้นสามารถแต่งตั้งผู้อื่นเข้าร่วมประชุมได้หรือสามารถแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบท่านใดท่านหนึ่งเป็นผู้รับมอบฉันทะเพื่อเข้าร่วมประชุม โดยออกเสียงตามที่ผู้ถือหุ้นระบุ บริษัทเปิดให้ผู้ถือหุ้นลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้ล่วงหน้าก่อนการประชุม ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง

               ผู้ถือหุ้นสามารถเสนอวาระการประชุมเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาได้ ก่อนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 โดยทางไปรษณีย์ หรือแฟกซ์ หรือ e-mail : [email protected]

               การออกเสียงลงคะแนนนับ 1 หุ้น เป็น 1 เสียง เท่ากันหมดทุกราย และหากมีรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือมีผู้ได้รับผลประโยชน์ในบางวาระจะแจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ไม่สามารถออกเสียงได้

               บริษัทมีการจดบันทึกการประชุมถูกต้อง ครบถ้วนเพื่อให้ผู้ถือหุ้นตรวจสอบได้

คณะกรรมการอิสระ และ กรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการบริษัทมีทั้งสิ้น 11 ท่าน โดยมีกรรมการอิสระ 3 ท่านประกอบด้วย

               นายชัยวัฒน์ จันทรศรีวงศ์
               นายสหาย ทรัพย์สุนทรกุล
               น.ส.อาภาพัชร สิริพันธ์วราภรณ์

คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการซึ่งมิได้เป็นกรรมการบริหาร และเป็นกรรมการที่เป็นอิสระ เพื่อช่วยในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทดังนี้

ประธานกรรมการตรวจสอบ                         น.ส.อาภาพัชร สิริพันธ์วราภรณ์

กรรมการตรวจสอบ                                        นายชัยวัฒน์ จันทรศรีวงศ์

กรรมการตรวจสอบ                                        นายสหาย ทรัพย์สุนทรกุล                                  

เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ               นางสาวนวพร โพธิ์ไทย (ผู้ตรวจสอบภายใน)

***วาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี***

มีการต่อวาระครั้งล่าสุดเมื่อปี 2567 และนางสาวอาภาพัชร สิริพันธ์วราภรณ์ เป็นกรรมการตรวจสอบที่มีความรู้และประสบการณ์สายงานบัญชี

          คุณสมบัติของกรรมการอิสระ

               1. ถือหุ้นไม่เกิน 1% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดในบริษัท บริษัทในเครือ บริษัทร่วม หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง (นับรวมบุคคลที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 258 ตามกฎหมายหลักทรัพย์)

               2. ไม่เป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน เป็นพนักงาน ลูกจ้าง หรือที่ปรึกษาที่ได้รับเงินเดือนประจำ หรือเป็นผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง (ปัจจุบัน และช่วง 2 ปี ก่อนได้รับการแต่งตั้ง)
               3. ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหรือโดยการจดทะเบียนในลักษณะที่เป็นบิดามารดา คู่สมรส พี่น้องและบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร กับผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมของ บริษัทหรือบริษัทย่อย
               4. ความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท
                             (ก) ลักษณะความสัมพันธ์
                                    • ความสัมพันธ์ในลักษณะของการให้บริการทางวิชาชีพ
                                           o ลักษณะความสัมพันธ์ : ผู้สอบบัญชี ผู้ให้บริการทางวิชาชีพอื่น เช่นที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน เป็นต้น
                                           o ระดับนัยสำคัญที่เข้าข่ายไม่อิสระ
                                                    – กรณีผู้สอบบัญชี : ห้ามทุกกรณี
                                                    – กรณีเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพอื่น : มูลค่ารายการเกิน 2 ล้านบาทต่อปี
                                    • ความสัมพันธ์ทางการค้า/ธุรกิจ
                                           o ลักษณะความสัมพันธ์ : กำหนดครอบคลุมรายการทางธุรกิจทุกประเภท ได้แก่ รายการที่เป็นธุรกรรมปรกติ รายการเช่า/ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ รายการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์/บริการ และรายการให้หรือรับความช่วยเหลือทางการเงิน
                                           o ระดับนัยสำคัญที่เข้าข่ายไม่อิสระ : มูลค่ารายการ ≥ 20 ล้านบาท หรือ ≥ 3% ของ NTA ของบริษัท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ในการพิจาณามูลค่ารายการให้รวมรายการที่เกิดขึ้นระหว่าง 6 เดือน ก่อนวันที่มีการทำรายการในครั้งนี้ด้วย
                             (ข) กรณีที่มีลักษณะความสัมพันธ์ ตาม (ก) กับนิติบุคคล บุคคลที่ถือว่าเข้าข่ายไม่อิสระได้แก่ผู้ถือ หุ้นใหญ่ กรรมการ (ยกเว้นเป็นกรรมการอิสระ/กรรมการตรวจสอบ) และผู้บริหาร หรือ partner ของนิติบุคคลนั้น
                             (ค) กรณีที่มีลักษณะความสัมพันธ์ตาม (ก) และ (ข) : ปัจจุบันและ 2 ปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง
                             (ง) ข้อยกเว้น : กรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ซึ่งมิได้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง กรรมการอิสระ/กรรมการตรวจสอบอาจมีความสัมพันธ์เกินระดับนัยสำคัญที่กำหนดใน ระหว่างดำรงตำแหน่งได้ แต่ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทก่อน และมติที่ได้ต้องเป็นมติเอกฉันท์
               5. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท
               6. ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระได้
               7. กรรมการอิสระที่มีคุณสมบัติ ตาม 1-6 อาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง โดยมีการตัดสินใจในรูปแบบองค์คณะ (Collective Decision) ได้

          คุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจสอบ

               1. ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการหรือผู้ถือหุ้น
               2. ทุกคนต้องเป็นกรรมการอิสระ
               3. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้ตัดสินใจในการดำเนิน กิจการของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง
               4. ไม่เป็นกรรมการของ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน
               5. มีหน้าที่ตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด
               6. มีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คนที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้

จริยธรรมธุรกิจ

              บริษัทออก ข้อพึงปฏิบัติเกี่ยวกับจรรยาบรรณของคณะกรรมการ และพนักงาน ที่สอดคล้องกับกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อหน้าที่ และมีระเบียบวินัย อีกทั้งบริษัทจัดประชุมพนักงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความเข้าใจอันดี ระหว่างกัน

          จรรยาบรรณของกรรมการบริษัทพาโตเคมีอุตสาหกรรมจำกัด(มหาชน)

               1. ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีจริยธรรม และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัท
               2. กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของบริษัทและกำกับควบคุมดูแล ให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดให้แก่กิจการและความมั่นคงสูงสุดให้แก่ ผู้ถือหุ้น
               3. มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นโดยสม่ำเสมอ ดำเนินงานโดยรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น มีการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนอย่างถูกต้องครบถ้วน มีมาตรฐานและโปร่งใส
               4. มีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
               5. ติดตามการดำเนินกิจการของบริษัทและควรได้รับรู้ถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและ ข้อกำหนดในสัญญาที่เกี่ยวข้องของบริษัท และควรกำชับให้ฝ่ายจัดการบอกกล่าวเรื่องราวที่สำคัญของบริษัทเพื่อให้การ ดำเนินกิจการของบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล
               6. ไม่รับเป็นกรรมการในบริษัทที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทจดทะเบียนที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอยู่

          จรรยาบรรณของพนักงานบริษัทพาโตเคมีอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน)

               ผู้บริหารและพนักงานพึงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศของการทำ งานให้เอื้อต่อการปฏิบัติตาม และเพื่อป้องกันการละเมิดจรรยาบรรณ จรรยาบรรณนี้ไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกสถานการณ์ หากพนักงานต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ได้ระบุไว้นี้กรุณาใช้ดุลพินิจเพื่อ ไต่ตรองถึงความถูกต้อง หรือปรึกษาผู้บังคับบัญชาเพื่อการยึดถือเป็นหลักปฏิบัติต่อไป
               1.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต
               2. หาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมเพื่อสร้างตนเองให้มีความสามารถในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
               3. ปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานด้วยความสุภาพ ให้เกียรติ มีน้ำใจ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ไม่ปิดบังข้อมูลที่จำเป็นในการปฏิบัติงานของผู้ร่วมงาน และปรับตนให้สามารถทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้เป็นอย่างดี
               4. รักษาและเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างผู้ร่วมงาน และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในทางที่ชอบเพื่อประโยชน์ต่องานของบริษัท
               5. ปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยเมตตาธรรมและยุติธรรม ดูแลเอาใจใส่และพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ด้วยการถ่ายทอดความรู้ในงาน สนับสนุนให้ได้รับการอบรม และให้ได้เพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์อยู่เสมอ
               6. รับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากผู้บังคับบัญชา และพิจารณานำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ต่องานของบริษัท
               7. ไม่แสวงหาตำแหน่ง ความดีความชอบ หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบจากผู้บังคับบัญชาหรือจากบุคคลอื่นใด
               8.ไม่ ใช้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนเพื่อแสวงหากำไรหรือผลประโยชน์ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
               9. หลีกเลี่ยงการรับสิ่งของหรือเงิน ผลประโยชน์ใดๆ จากบุคคลอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือธุรกิจเกี่ยวข้องกับบริษัทซึ่งอาจมี ผลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัท เว้นแต่ในโอกาสหรือเทศกาลที่เป็นประเพณีนิยมและเป็นการรักษาสัมพันธภาพทาง ธุรกิจโดยปกติ ทั้งนี้จะต้องไม่มีราคาจนเกินสมควรหรือเกินกว่าเหตุ
               10. รักษาความลับบริษัทโดยดูแลมิให้เอกสารอันเป็นความลับรั่วไหลหรือตกไปถึงผู้ไม่เกี่ยวข้องอันอาจเป็นเหตุแห่งความเสียหายแก่บริษัท
               11. ระมัดระวังการแสดงความเห็นต่อบุคคลภายนอกในเรื่องที่อาจกระทบต่อชื่อเสียงบริษัท
               12. ไม่นำเอาข้อมูลหรือเรื่องราวของพนักงานอื่น ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานและเรื่องส่วนตัวไปเปิดเผย หรือวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่พนักงาน หรือภาพพจน์โดยส่วนรวมของบริษัท
               13. ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพนัน และสิ่งเสพติดและ ไม่ประพฤติตนในทางที่อาจให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของตนเองและบริษัท
               14. ดูแลรักษาทรัพย์สินของบริษัทมิให้เสียหาย สูญหาย หรือนำไปใช้ในทางที่ผิด ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัดและไม่นำไปใช้ในเรื่องส่วนตัว
               15. ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงสุขภาพ ความปลอดภัยต่อตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม

การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน

               บริษัท มีนโยบายและวิธีการดูแลกรรมการและผู้บริหาร พนักงาน รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องมิให้นำข้อมูลภายในของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ ส่วนตน รวมทั้งเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ก่อนที่งบการเงินจะเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยผู้ที่อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบด้านการจัดทำงบการเงินไม่สามารถรับรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงินจนกว่างบนั้นจะได้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างเป็น ทางการ นอกจากนี้ผู้บริหารทุกท่านจะต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ ต่อเลขานุการบริษัททันทีที่การถือครองหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงทั้งนี้ เพื่อที่จะนำรายงานเสนอต่อประธานกรรมการและรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครอง หลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 วัน ทำการหลังจากวันที่ทำการซื้อหรือขาย

นโยบายต่อต้าน คอร์รัปชัน

             บริษัท เห็นว่า ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นที่รับรู้กันไปทั่วโลก และไทยถูกจัดอันดับอยู่ประเทศที่มีการคอร์รัปชันสูงในอันดับต้นๆ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และมาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้คนโดยส่วนรวม เช่น
             1) ทำให้เกิดการคดโกงทรัพยากรของส่วนรวมไปเป็นของตนเองอย่างผิดกฎหมายและ จริยธรรม
             2) ทำให้เกิดการบิดเบือนการใช้ทรัพยากร ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด เช่น การก่อสร้างถนนหรือถาวรวัตถุต่างๆ มีคุณภาพต่ำ อายุใช้งานน้อยกว่าที่ควรเป็น หรือการได้รับบริการคุณภาพต่ำ
             3) ทำให้เกิดการผูกขาดโดยนักธุรกิจการเมืองขนาดใหญ่ ไม่ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความอ่อนแอ ความด้อยพัฒนาล้าหลังขององค์กร
             4) ทำให้เยาวชนและประชาชนมีค่านิยมแบบยกย่องความร่ำรวย ความสำเร็จ โดยถือว่าการโกงแม้เพียงเล็กน้อยเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ การใช้อภิสิทธิ์ เล่นพวก เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน ทำให้ประชาชนขาดจริยธรรม ศีลธรรม เกิดการเอาเปรียบกันอย่างไม่เคารพกติกา ไม่มีวินัย ไม่มีจิตสำนึกที่จะทำงานร่วมกันเพื่อหมู่คณะ

บริษัท จึงมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันดังนี้
             1. ช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันจากสังคมไทย ผ่านการบริหารงานอย่างมีธรรมมาภิบาลและใช้การตรวจสอบภายในเป็นเครื่องมือ เพื่อปิดช่องว่างที่อาจสร้างโอกาสแก่การคอร์รัปชันในองค์กร
             2. ปลูกฝังพนักงานถึงการทำงานขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์ สุจริต เน้นการนึกถึงประโยชน์ส่วนรวม
             3. หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมใดที่จะนำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันของภาครัฐหรือเอกชน

คู่มือธรรมมาภิบาล

นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

คู่มือต่อต้านคอร์รัปชัน

การถือครองหุ้นกรรมการทั้งทางตรงและทางอ้อม

*นโยบายการเก็บข้อมูลส่วนตัว* บริษัทมิได้ใช้ Cookie บนเว็ปไซต์นี้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศนโยบายความเป็นส่วนตัวของบริษัทจากเว็บไซต์นี้ภายใต้หัวข้อ “นโยบายความเป็นส่วนตัว